สรุปโครงการอบรมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการคิดแยกแยะประโยชน์ส่วนตน กับประโยชน์ส่วนรวมและวิธียื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างถูกต้อง
เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
โดยคณะกรรมการดำเนินโครงการอบรมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการคิดแยกแยะประโยชน์ส่วนตน กับประโยชน์ส่วนรวมและวิธียื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างถูกต้อง ผ่านระบบ Application Zoom Meeting ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖.๐๐ น. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคิดแยกแยะประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม รวมถึงวิธียื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้แก่ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ ตลอดจนนิสิตนักศึกษา และผู้สนใจโดยทั่วไป ซึ่งมีรองศาสตราจารย์ ดร.สุรพล สุยะพรหม รองอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป ในนามประธานคณะกรรมการดำเนินโครงการกล่าวรายงานต่อองค์อธิการบดี โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่ Application Zoom, ยูทูป, Mcu TV และเฟสบุคไลน์ รวมทั้งสิ้น ๕,๖๓๐ รูป/คน
โดยภาคเช้าได้รับความเมตตาจากพระเดชพระคุณ พระธรรมวัชรบัณฑิต, ศ.ดร. อธิการบดี เป็นประธานเปิดพร้อมให้หลักคิดในการทำงานที่สำคัญอีกสองประการคือ หลักอัตตหิตสมบัติ (ประโยชน์ส่วนตน) และหลักปรหิตปฏิบัติ (การทำประโยชน์ส่วนรวม) โดยคนทำงานนั้นจักต้องกระทำตนให้มีความพร้อมที่จักทำงานโดยยึดอุดมการณ์ของพระโพธิสัตว์เป็นที่ตั้ง ซึ่งต้องมีความพร้อมทั้งทางด้านความรู้อันเป็นบ่อเกิดความพร้อม ๔ ดี คือ เราดี สถาบันดี สังคมดี โลกดี โดยมีความประพฤติ ภาวะผู้นำ และความเป็นปูชนียบุคคล อันจะส่งผลให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบตามตำแหน่งหน้าที่ของตน เพื่อพัฒนาตนเองและผู้อื่น โดยยึดหลักดังนี้ Work ไม่เกิน ๕๐% Job ไม่เกิน ๒๕% Activity ไม่เกิน ๑๕% Ceremony ไม่เกิน ๑๐ % สอดคล้องกับหลักพระธรรมวินัยและหลักกฎหมาย
ลำดับต่อมาเป็นการบรรยายพิเศษจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ นายวรัญ มณีศรี ผู้อำนวยการกลุ่มยื่นบัญชีและพัฒนาระบบงานตรวจสอบ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ว่า “การยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐทุกระดับ ซึ่งเป็นไปภายใต้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ โดยปัจจุบันได้กำหนดให้เจ้าพนักงานของรัฐระดับสูงมีหน้าที่ยื่นเป็นเบื้องต้นก่อน” และได้ทำความเข้าใจว่าการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินนั้น
สำหรับภาคบ่ายเป็นกิจกรรมการเสวนา ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ๒ ท่าน ได้แก่ นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และ รองศาสตราจารย์ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางกฎหมาย ในหัวข้อ “กฎหมาย ป.ป.ช. เกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม การคิดแยกแยะความผิดเกี่ยวกับประโยชน์ทับซ้อนและกรณีศึกษา”
เนื้อหาเสวนาโดยสรุปได้พูดถึงตำแหน่งที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ตามมาตรา ๑๐๓ ในส่วนของมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย ๑. รองอธิการบดีหรือตำแหน่งเทียบเท่า และคู่สมรส (ที่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่ได้จดทะเบียนสมรส) บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ๒. เจ้าหน้าที่ของรัฐ (ให้รอประกาศ พรฏ. ตามมาตรา ๑๓๐) โดยมีกำหนดยื่นทุก ๓ ปี กรณีรับตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งให้ยื่นภายใน ๖๐ วัน รายการทรัพย์สินที่ต้องยื่น ประกอบด้วย เงินสด (รวมกันแล้วไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท) เงินฝาก เงินลงทุน เงินให้กู้ยืม ที่ดิน โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง ยานพาหนะ สิทธิบัตรและสัมปทาน ทรัพย์สินอื่น เช่น ทองคำ มูลค่าตั้งแต่ ๒๐๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป เป็นต้น ส่วนรายการหนี้สิน ประกอบด้วย เงินเบิกเกินบัญชี เงินกู้จากธนาคารและสถาบันการเงินอื่น หนี้สินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ หนี้อื่น เช่น บัตรเครดิต วงเงินตั้งแต่ ๕๐,๐๐๐ บาท ขึ้นไป เป็นต้น ทั้งนี้ การยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐทุกระดับ ซึ่งเป็นไปภายใต้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑
ท้ายที่สุด พระเมธีธรรมาจารย์ ,รองศาสตราจารย์ ดร., รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา ได้ให้ข้อคิดก่อนปิดโครงการฯ “เรื่องทุจริตนี้เป็นเรื่องใหญ่เป็นเรื่องสำคัญ” โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการต่อต้านทุจริตถึงสามวาระด้วยกัน คือ วาระที่ ๑ การสร้างกัณฑ์เทศน์เรื่องสุจริตธรรมกถา ซึ่งให้ทั่วประเทศนำไปเผยแพร่ วาระที่ ๒ มีการประชุมร่วมกันกับสำนักงาน ป.ป.ช. ใน ๔ ภาค และ วาระที่ ๓ นี้ เป็นเรื่องการตระหนักรู้ในเรื่องผลประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม และเรื่องการเตรียมตัวในการยื่นบัญชีทรัพย์สินของตนเอง
ดาวน์โหลดรูปสรุปโครงการ >>>> คลิก